วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ช่วยกันเป็นหูเป็นหา ตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย

จากเหตุการณ์วางระเบิดบริเวณสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร  จำนวน 10 จุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เรื่องราวของระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Device : IED) กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง ระเบิดแสวงเครื่องอาจถูกวางในพื้นที่ใดก็ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจไม่สามารถช่วยระมัดระวังได้อย่างทั่วถึง ประชาชนจึงควรช่วยกันเป็นหูเป็นตา หมั่นสังเกตุและระแวดระวังวัตถุต้องสงสัยกันมากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง  

หมั่นการสังเกตความผิดปกติในพื้นที่ของเรา สิ่งของอะไรที่ 
ไม่เคยเห็น ไม่เป็นของใคร ไม่ใช่ที่อยู่ ดูไม่เรียบร้อย
ให้สมมติฐานว่าอาจจะเป็นระเบิดแสวงเครื่องไว้ก่อน

การห่อหุ้มเพื่ออำพราง
วัสดุอุปกรณ์หรือภาชนะที่มักใช้ห่อหุ้ม หรือบรรจุ IED เพื่ออำพรางให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ทำให้ยากต่อการตรวจพบ ซึ่งหากไม่ระมัดระวัง หรือขาดการสังเกตที่ดีก็มักจะตกเป็นเหยื่อของ IED อยู่เสมอ รูปแบบการห่อหุ้มที่เคยพบ เช่น
  • บรรจุในถังน้ำยาเคมีดับเพลิง        
  • บรรจุในถังแก๊สหุงต้ม
  • บรรจุแผ่นเหล็กรูปทรงต่างๆ
  • บรรจุในท่อแป๊บน้ำ/ท่อพีวีซี/ท่อประปา
  • บรรจุในถังน้ำมันเชื้อเพลิงรถจักรยานยนต์
  • บรรจุในหม้อแขก
  • บรรจุในถัง/กระป๋องสี
  • บรรจุในแกลลอนน้ำมันเครื่อง
  • บรรจุในขวดแก้ว
  • ห่อหุ้มด้วยปูนซีเมนต์เลียนแบบหลักทาง
  • ห่อหุ้มในกระสอบทราย
  • ห่อหุ้มด้วยกล่องพลาสติก/กระป๋องขนม
  • ห่อหุ้มด้วยกล่องนม/น้ำผลไม้
  • ห่อหุ้มด้วยกระป๋องน้ำอัดลม/เบียร์
  • ซุกซ่อนในกระเป๋าสะพาย
  • ซุกซ่อนในหนังสือ
  • ซุกซ่อนในกระถางต้นไม้
  • ซุกซ่อนในรถจักรยานยนต์
  • ซุกซ่อนในหลักกิโลเมตร
  • ฯลฯ








จุดที่มักชอบวาง  IED
จุดที่วาง IED ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ แต่ส่วนใหญ่มักจะซุกซ่อนไม่ให้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย และสามารถให้อำนาจการระเบิดมีผลกระทบต่อเป้าหมายมากที่สุด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พบ มีตัวอย่างให้เห็น ดังนี้
  1. การลอบวางงระเบิดเส้นทางลาดตระเวน เช่น บนพื้นถนนอ่อนหรือชำรุด การขุดจากด้านข้างถนน การวางไว้บนต้นไม้ การซุกซ่อนไว้ในรถยนต์ วางไว้ในท่อลอดใต้ถนน วางไว้โคนเสาหลักกิโลเมตร วางไว้ริมถนน วางไว้บนเนินดินข้างถนน  วางไว้บนเสาไฟข้างถนน เป็นต้น  
  2. การลอบวางระเบิดในเขตชุมชน เช่น วางไว้ในรถจักรยานยนต์ ในรถยนต์ ในถังขยะ ในกองขยะ ในกระถางต้นไม้ ไว้ใต้ที่นั่งพัก เป็นต้น
  3. การลอบวางระเบิดภายในอาคาร ร้าน ค้า และสถานบันเทิง เช่น วางไว้ในร้านสะดวกซื้อ ในร้านหนังสือ ในห้างสรรพสินค้า ในสถานบันเทิง ใต้อ่างล้างมือ ในห้องน้ำสาธารณะ 
  4. การลอบวางระบิดในพื้นที่อื่นๆ เช่น ในศาลาพักริมทาง ใต้ลานอิฐตัวหนอน บนเกาะกลางถนน ใต้แผงขายของ ในแปลงปลูกต้นไม้ ในป้อมตำรวจ เป็นต้น 
จุดที่มักวาง IED ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กล่าวมา สามารถนำไปใช้เป็นจุดที่ควรสังเกตเบื้องต้นได้ แต่หากท่านใดพบวัตถุต้องสงสัยเข้าจริงๆ ขอให้ทำตามคำแนะนำตามลิงค์นี้ ครับ



*********************************
ที่มาข้อมูล
  • คู่มือการพัฒนาระเบิดแสวงเครื่องของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
  • แนวทางการบริหารเหตุการณ์วิกฤต


วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปี พ.ศ.2550 เริ่มยุคการก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่อง (IED) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์วางระเบิดส่งท้ายปีเก่า 8 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างเวลา 18:00-24:00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และต่ออีก 5 นาทีของวันที่ 1 ม.ค.2550 อาจถือเป็นสัญญาณของยุคเริ่มต้นของการก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่อง  (Improvised Explosive Devices : IED) ในประเทศไทยก็เป็นได้ 

เหตุการณ์นี้  ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทำให้ใครหลายคนที่เตรียมตัวเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าหลายคนเกิดการหวาดผวา จนกระทั้งการจัดงานเฉลิมฉลองศักราชใหม่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในหลายพื้นที่ต้องประกาศยกเลิกการจัดงาน

ที่มาของภาพ ผู้จัดการ Online
คนร้ายลอบวางระเบิดใน กทม. 8 จุด เมื่อ 31 ธ.ค. 2549 – 1 ม.ค.2550  ระหว่างเวลา 18.10-00.05 น. นั้นมีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 33 คน  โดยสรุปได้ ดังนี้
  1. สะพานลอยคนข้ามฝั่งร้านอาหารพงหลี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 13 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน คือ นายสงกรานต์ กาญจนะ อายุ 36 ปี บาดเจ็บสาหัส 3 คน
  2. ชุมชนไผ่สิงโต ตลาดผลไม้คลองเตย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน เสีย ชีวิต 1 คน คือ นายสุวิชัย นาคเอี่ยม อายุ 61 ปี
  3. ป้อมตำรวจจราจรสี่แยกสะพานควาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน ป้อมตำรวจเสียหายเล็กน้อย
  4. ป้อมตำรวจจราจรซอยสุขุมวิท 62 ไม่มีผู้บาดเจ็บ ป้อมตำรวจและรถยนต์เสียหาย 1 คัน
  5. ลานจอดรถจักรยานยนต์ ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ไม่มีผู้บาดเจ็บ
  6. ป้อมตำรวจจราจร สี่แยกแคราย ไม่มีผู้บาดเจ็บ
  7. ท่าเรือด่วนประตูน้ำ บริเวณสะพานเฉลิมโลก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน เป็นชาวต่างชาติ 6 คน คนไทย 2 คน
  8. ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าห้างเกษรพลาซ่า ตรงข้ามห้างเซ็ลทรัลเวิล์ด มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นชาวต่างชาติ 1 คน รถยนต์เสียหาย 1 คัน
"....จากการประเมินของกองพิสูจน์หลักฐานที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นจากที่เกิดเหตุ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทราบว่าเป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องแรงดันต่ำ โดยตั้งเวลาจุดระเบิดด้วยนาฬิกา ซึ่งมีตะปูเหล็กเป็นตัวเชื่อมต่อพร้อมสายไฟ ขนาดของวัตถุระเบิดเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ซึ่งแต่ละแห่งมีลักษณะที่เหมือนกัน โดยสาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดจากการสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนหวาดวิตก..."


ที่มาของภาพ http://www.thairath.co.th/content/488091
"....มีรายงานมาว่า ลักษณะการวางระเบิด 3 ใน 6 จุด มีลักษณะลอบวางไว้ในถังขยะเหมือนกัน โดยจุดวางระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ พบว่าระเบิดซุกซ่อนอยู่ในกระป๋องมันฝรั่ง (กระป๋องที่ทำจากกระดาษ) และเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยบริเวณร้านทองโซน G ซึ่งเป็นกระป๋องมันฝรั่งฟริงเกิ้ล สภาพใหม่ เมื่อแม่บ้านหยิบมันฝรั่งจากภายในไปเรื่อยๆ พบสายไฟจำนวนมาก...."

ที่มาของภาพ http://www.thairath.co.th/content/488091
".....สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า ระเบิดที่ใช้ในการก่อเหตุ เป็นระเบิดแรงดันสูง มีส่วนประกอบของแอมโมเนียมไนเตรด M4 จุดระเบิดด้วยเศษเหล็กและตะปูเป็นส่วนประกอบ ซุกซ่อนอยู่ในกล่องเหล็กขนาด 3 x 5 นิ้ว สูง 1 นิ้ว ตั้งเวลาจุดระเบิดด้วยนาฬิกาดิจิตอล ทั้งนี้พบสัญลักษณ์ที่น่าสงสัยเป็นตัวอักษรย่อ IRK มีลักษณะเป็นการเขียนด้วยปากกาคล้ายกราฟิค ในจุดเกิดเหตุ 3-4 จุด คือ บริเวณตู้โทรศัพท์หน้าห้างสรรพสินค้าเกสรพลาซ่า ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชดำริ ท่าเรือคลองแสนแสบ ซึ่งตรงกับที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ..."

ไม่ว่าการวางระเบิดแสวงเครื่องทั้ง 8 จุดในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยครั้งนี้ จะเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองที่เปลี่ยนขั้วอำนาจหรือไม่ก็ตาม แต่มันเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่อง (IED) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ  


*************************
ที่มาข้อมูล :
  • Kittinunn Online. (2550). จับตาความน่าจะเป็น แกะรอยเส้นทางระเบิดป่วน กทม. http://www.oknation.net/blog/kittinunn/2007/01/01/entry-1
  • มาหาอะไร @ Maha-arai. http://maha-arai.blogspot.com/2009/04/blog-post_7025.html