วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปี พ.ศ.2550 เริ่มยุคการก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่อง (IED) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์วางระเบิดส่งท้ายปีเก่า 8 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างเวลา 18:00-24:00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และต่ออีก 5 นาทีของวันที่ 1 ม.ค.2550 อาจถือเป็นสัญญาณของยุคเริ่มต้นของการก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่อง  (Improvised Explosive Devices : IED) ในประเทศไทยก็เป็นได้ 

เหตุการณ์นี้  ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทำให้ใครหลายคนที่เตรียมตัวเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าหลายคนเกิดการหวาดผวา จนกระทั้งการจัดงานเฉลิมฉลองศักราชใหม่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในหลายพื้นที่ต้องประกาศยกเลิกการจัดงาน

ที่มาของภาพ ผู้จัดการ Online
คนร้ายลอบวางระเบิดใน กทม. 8 จุด เมื่อ 31 ธ.ค. 2549 – 1 ม.ค.2550  ระหว่างเวลา 18.10-00.05 น. นั้นมีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 33 คน  โดยสรุปได้ ดังนี้
  1. สะพานลอยคนข้ามฝั่งร้านอาหารพงหลี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 13 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน คือ นายสงกรานต์ กาญจนะ อายุ 36 ปี บาดเจ็บสาหัส 3 คน
  2. ชุมชนไผ่สิงโต ตลาดผลไม้คลองเตย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน เสีย ชีวิต 1 คน คือ นายสุวิชัย นาคเอี่ยม อายุ 61 ปี
  3. ป้อมตำรวจจราจรสี่แยกสะพานควาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน ป้อมตำรวจเสียหายเล็กน้อย
  4. ป้อมตำรวจจราจรซอยสุขุมวิท 62 ไม่มีผู้บาดเจ็บ ป้อมตำรวจและรถยนต์เสียหาย 1 คัน
  5. ลานจอดรถจักรยานยนต์ ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ไม่มีผู้บาดเจ็บ
  6. ป้อมตำรวจจราจร สี่แยกแคราย ไม่มีผู้บาดเจ็บ
  7. ท่าเรือด่วนประตูน้ำ บริเวณสะพานเฉลิมโลก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน เป็นชาวต่างชาติ 6 คน คนไทย 2 คน
  8. ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าห้างเกษรพลาซ่า ตรงข้ามห้างเซ็ลทรัลเวิล์ด มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นชาวต่างชาติ 1 คน รถยนต์เสียหาย 1 คัน
"....จากการประเมินของกองพิสูจน์หลักฐานที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นจากที่เกิดเหตุ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทราบว่าเป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องแรงดันต่ำ โดยตั้งเวลาจุดระเบิดด้วยนาฬิกา ซึ่งมีตะปูเหล็กเป็นตัวเชื่อมต่อพร้อมสายไฟ ขนาดของวัตถุระเบิดเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ซึ่งแต่ละแห่งมีลักษณะที่เหมือนกัน โดยสาเหตุคาดว่าน่าจะเกิดจากการสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนหวาดวิตก..."


ที่มาของภาพ http://www.thairath.co.th/content/488091
"....มีรายงานมาว่า ลักษณะการวางระเบิด 3 ใน 6 จุด มีลักษณะลอบวางไว้ในถังขยะเหมือนกัน โดยจุดวางระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ พบว่าระเบิดซุกซ่อนอยู่ในกระป๋องมันฝรั่ง (กระป๋องที่ทำจากกระดาษ) และเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยบริเวณร้านทองโซน G ซึ่งเป็นกระป๋องมันฝรั่งฟริงเกิ้ล สภาพใหม่ เมื่อแม่บ้านหยิบมันฝรั่งจากภายในไปเรื่อยๆ พบสายไฟจำนวนมาก...."

ที่มาของภาพ http://www.thairath.co.th/content/488091
".....สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า ระเบิดที่ใช้ในการก่อเหตุ เป็นระเบิดแรงดันสูง มีส่วนประกอบของแอมโมเนียมไนเตรด M4 จุดระเบิดด้วยเศษเหล็กและตะปูเป็นส่วนประกอบ ซุกซ่อนอยู่ในกล่องเหล็กขนาด 3 x 5 นิ้ว สูง 1 นิ้ว ตั้งเวลาจุดระเบิดด้วยนาฬิกาดิจิตอล ทั้งนี้พบสัญลักษณ์ที่น่าสงสัยเป็นตัวอักษรย่อ IRK มีลักษณะเป็นการเขียนด้วยปากกาคล้ายกราฟิค ในจุดเกิดเหตุ 3-4 จุด คือ บริเวณตู้โทรศัพท์หน้าห้างสรรพสินค้าเกสรพลาซ่า ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชดำริ ท่าเรือคลองแสนแสบ ซึ่งตรงกับที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ..."

ไม่ว่าการวางระเบิดแสวงเครื่องทั้ง 8 จุดในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยครั้งนี้ จะเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองที่เปลี่ยนขั้วอำนาจหรือไม่ก็ตาม แต่มันเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่อง (IED) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ  


*************************
ที่มาข้อมูล :
  • Kittinunn Online. (2550). จับตาความน่าจะเป็น แกะรอยเส้นทางระเบิดป่วน กทม. http://www.oknation.net/blog/kittinunn/2007/01/01/entry-1
  • มาหาอะไร @ Maha-arai. http://maha-arai.blogspot.com/2009/04/blog-post_7025.html

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ EOD เมื่อพบ IED

ขั้นตอนการปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดเมื่อพบระเบิดแสวงเครื่อง มีดังนี้
  1. รับทราบภารกิจ (Tasking)
  2. การวางแผนขั้นต้น (Initial Planning)
  3. การปฏิบัติ ณ จุดนัดพบ
  4. การสอบถามพยาน (Questioning)
  5. การประเมินสถานการณ์ (Evaluation)
  6. การวางแผนการปฏิบัติ (Planning)
  7. การปฏิบัติตามแผน (Execution)
  8. การดำเนินการขั้นสุดท้าย
ที่มาของภาพ http://www.thairath.co.th/content/345599
ทั้ง 8 ขั้นตอน เป็นหลักการในการปฏิบัติของการเก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 3 กรรมวิธี คือ
  1. การเข้าหา (Access Procedure) ความมุ่งหมายเพื่อทราบจุดที่แน่นอนของระเบิดแสวงเครื่อง
  2. การทำให้ปลอดภัย (Render Safe Procedure) ความมุ่งหมายเพื่อใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ในการหยุดการทำงานของระเบิดแสวงเครื่อง
  3. การรอคอย (Soak Time) เป็นระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยในการเข้าหาระเบิดแสวงเครื่อง
การพิสูจน์ทราบระเบิดแสวงเครื่อง
เป็นขั้นตอนสำคัญในการเก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่อง ต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษเข้าช่วย และเครื่องมือพิเศษที่จัดว่ามีความจำเป็นมากสำหรับนักเก็บกู้วัตถุระเบิดคือ เครื่องยิงปลดชนวนระยะไกล (Water Cannon) และ เครื่องเอ็กซ์เรย์ (X-ray)

เครื่องยิงปลดชนวนระยะไกล เป็นเครื่องมือหลักของนักเก็บกู้วัตถุระเบิดในการนิรภัยระเบิดแสวงเครื่อง ปัจจุบันกรมสรรพาวุธทหารบก ได้ผลิตแจกจ่ายให้หน่วยงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (ทลร.) ของกองทัพบก โดยใช้ลำกล้องที่หมดอายุของ ปก.93 ขนาด 0.50 นิ้ว มีการทดสอบการใช้งานจนเป็ฯที่ยอมรับของหน่วยงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (ทลร.) ทุกเหล่าทัพว่ามีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่าที่จัดหาจากต่างประเทศ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทลร.มีความปลอดภัยสูงขึ้น และโอกาสในการตัดการทำงานของวงจรระเบิดแสวงเครื่องมีมากกว่า 95% นอกจากนี้ยังชาวยประหยัดงบประมาณของกองทัพบกอีกเป็นจำนวนมาก

เครื่องเอ็กซ์เรย์ เปรียบเสมือนตาของนักเก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งระเบิดแสวงเครื่องมักจะถูกปกปิดไม่สามารถเห็นส่วนประกอบภายในได้ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ ทำให้เราสามารถทราบโครงสร้างภายในของวัตถุต้องสงสัย เพื่อเป็นข้อมูลในการปฏิบติให้เกิดความปลอดภัย 

แนวทางการปฏิบัติหลังจากที่พิสูจน์ทราบแล้ว
ตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติต่อระเบิดแสวงเครื่อง
  1. ระเบิดแสวงเครื่องแบบป้องกันการเปิด ใช้เครื่องยิงปลดชนวนระยะไกล หรือถ้าเคลื่อนย้าวยได้ให้ทำการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่โล่งแจ้งแล้วระเบิดทำลาย
  2. ระเบิดแสวงเครื่องแบบป้องกันการยกหรือการเคลื่อนย้าย ถ้าสามารถระเบิดทำลาย ณ ที่ตรวจพบให้ใช้ระเบิดทำลายหรือใช้เครื่องยิงปลดชนวนระยะไกล แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นจำเป็นต้องเก็บกู้ด้วยมือ (Hand Entry) ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง
  3. ระเบิดแสวงเครื่องแบบถ่วงเวลาด้วยนาฬิกา จำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา ถ้าสามารถระเบิดทำลาย ณ ที่ตรวจพบให้ใช้ระเบิดทำลายหรือใช้เครื่องปลดชนวนระยะไกล
  4. ระเบิดแสวงเครื่องแบบควบคุมระยะไกลใช้วิทยุรับ-ส่ง ให้ทำการค้นหาผู้ที่ควบคุมการจุดระเบิด ในรัศมีของวิทยุรับ-ส่ง ซึ่งมักจะอยู่ในที่สูง และให้ระวังกลลวง ถ้าสามารถระเบิดทำลาย ณ ที่ตรวจพบให้ใช้ระเบิดทำลายหรือใช้เครื่องยิงปลดชนวนระยะไกล โดยใช้เวลาน้อยที่สุด ถ้ารู้ช่องสัญญาณความถี่ให้ใช้เครื่องรบกวนสัญญาณ (Jamming) รบกวนการทำงานของเครื่องรับ
ส่วนมากระเบิดแสวงเครื่องที่ออกแบบเพื่อความมุ่งหมายในการทำลาย มักมีระบบป้องกันการเก็บกู้ด้วย ระเบิดแสวงเครื่องดังกล่าวอาจมีการทำงานหลายระบบ หรือมีการทำลงานหลายชั้น 

ฉะนั้นเจ้าหน้าที่เก็บกู้ จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

*****************************
ที่มาข้อมูล : กรมสรรพาวุธทหารบก

การปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ทั่วไปเมื่อพบ IED

การปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ทั่วไปเมื่อพบวัตถุต้องสงสัย หรือ IED
เจ้าหน้าที่ทั่วไปเมื่อได้รับแจ้งว่ามีวัตถุต้องสงสัยหรือระเบิดแสวงเครื่อง เมื่อถึงพื้นที่เกิดเหตุแล้วควรดำเนินการดังนี้
  1. อพยพผู้คนและกัยเขตอันตรายไม่น้อยกว่าระยะที่กำหนด
  2. สอบถามข้อมูลจากผู้พบเห็นหรือพยานที่พบเห็น และให้กักตัวไว้ก่อน
  3. ให้ข้อมูลและสอบถามข้อมูลจากหน่วยข่าวกรอง
  4. แจ้งหน่วยช่วยเหลืออื่นๆ เช่น หน่วยดับเพลิง หน่วยพยาบาลฉุกเฉิน หรือหน่วยกู้ภัยต่างๆ
  5. รอพบเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดที่รับผิดชอบ เพื่อให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่
ที่มาของภาพ http://news.truelife.com/detail/3086072

**********************
ที่มาข้อมูล : กรมสรรพาวุธทหารบก

เมื่อพบวัตถุต้องสงสัยหรือระเบิดแสวงเครื่อง จะทำอย่างไร

เมื่อพบวัตถุต้องสงสัยหรือระเบิดแสวงเครื่อง จะทำอย่างไร
หากท่านพบวัตถุต้องสงสัยหรือระเบิดแสวงเครื่อง ข้อควรปฏิบัติมีดังนี้
  1. ห้ามจับต้อง หยิบยกเคลื่อนย้าย ทำให้สั่นสะเทือนหรือเคลื่อนไหวโดยเด็ดขาด
  2. สอบถามหาเจ้าของวัตถุต้องสงสัย หากไม่มีผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า วัตถุต้องสงสัยอาจจะเป็นวัตถุระเบิด
  3. จดจำลักษณะทั่วไปของวัตถุต้องสงสัยและบริเวณพื้นที่ที่พบเห็น เพื่อเป็นข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ เก็บกู้วัตถุระเบิด ดังนี้
    1. ขนาด, รูปร่าง ของวัตถุต้องสงสัย
    2. ลักษณะบ่งบอกอื่นๆ เช่น มีเสียงการทำงาน มีสายไฟฟ้า เป็นต้น
  4. รายงานให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้รับผิดชอบสถานที่นั้นทราบ โดยรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการต่อไป
  5. อพยพผู้คนออกจากอาคารสถานที่หรือพื้นที่โดยรอบโดยด่วน โดยวิธีนุ่มนวลเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นกลัว
  6. กำหนดเขตอันตรายและป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในเขตอันตราย โดยประมาณการจากขนาดวัตถุต้องสงสัย
    1. IED ขนาดเล็ก ปิดกั้นระยะไม่ต่ำกว่า 100 เมตร
    2. IED ขนาดกลาง ปิดกั้นระยะไม่ต่ำกว่า 200 เมตร
    3. IED ขนาดใหญ่ รถยนต์ระเบิด ปิดกั้นระยะไม่ต่ำกว่า 400 เมตร
  7. ผู้พบเห็นวัตถุต้องสงสัยให้รอให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด
ที่มาของภาพ http://suphanburi.dlt.go.th/pic55pr04_songkran55.html


***************************
ที่มาข้อมูล : 
  • กรมสรรพาวุธทหารบก
  • แนวทางการบริหารเหตุการณ์วิกฤต

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ระเบิดแสวงเครื่อง สังเกตได้อย่างไร

ระเบิดแสวงเครื่อง สังเกตได้อย่างไร
เนื่องจากระเบิดแสวงเครื่อง มีลักษณะภายนอกเหมือนกับวัสดุ หรือของใช้ทั่วไป ทำให้การสังเกตหรือการพิสูจน์ทราบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องนั้น ค่อนข้างทำได้ยาก และจะมีข้อพิจารณาในเบื้องต้นได้ ดังนี้

  1. เป็นวัตถุที่ไม่มีเจ้าของ หรือหาเจ้าของไม่พบ 
  2. เป็นวัตถุมีลักษณะภายนอกผิกปกติ หรือผิดจากรูปเดิมไป เช่น กล่องมีร่องรอยเปรอะเปื้อน กล่องปิดผนึกไม่เรียบร้อยหรือมีรอยผนึกใหม่ มีรอยยับต่างๆ หรือมีสีที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
  3. เป็นวัตถุที่ควรจะอยู่ในที่อื่นมากกว่าจะอยู่ตรงนั้น
  4. เป็นวัตถุที่ไม่เคยพบเห็น ณ ที่ตรงนั้นมาก่อนเลย
  5. ฯลฯ
จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแค่เหตุผลในการพิจารณาเบื้องต้นเท่านั้น ถ้ามีข้อผิดสังเกตให้ระลึกไว้เสมอว่า

"วัตถุต้องสงสัยนั้น อาจเป็นระเบิดแสวงเครื่อง"

ที่มาของภาพ โพสต์ทูเดย์


















**********************
ที่มา : กรมสรรพาวุธทหารบก

ระเบิดแสวงเครื่องทำงานได้อย่างไร

ระเบิดแสวงเครื่องทำงานได้อย่างไร
ระเบิดแสวงเครื่องที่พบส่วนมากเป็นระเบิดแสวงเครื่องระบบไฟฟ้า เพราะทำได้ง่ายและกำหนดการทำงานได้หลากหลาย ซึ่งมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน คือ
  1. แหล่งจ่ายไฟ ได้แก่ แบตเตอรี่ต่างๆ  
  2. ระบบสวิทช์ควบคุม ได้แก่ สวิทช์ปลอดภัย (Safety switch) สวิทช์พร้อมระเบิด (Arming switch) สวิทช์จุดระเบิด (Firing switch) หรือ วงจร สวิทช์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ
  3. ตัวจุดระเบิด ได้แก่ เชื้อปะทุทางทหารหรือเชื่อปะทุทางพลเรือน
  4. ดินระเบิดหลัก ได้แก่ แท่งดินระเบิดมาตรฐาน หรือวัตถุระเบิดที่ทำขึ้นเอง
ที่มาของภาพ http://www.globalsecurity.org/military/intro/ied.htm

ลักษณะการทำงานของระเบิดแสวงเครื่องระบบไฟฟ้านั้น ส่วนประกอบที่ทหให้เกิดการทำงานในรูปแบบต่างๆ คือระบบสวิทช์ควบคุม ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มการทำงานของระบบสวิทช์ควบคุมได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
  1. ทำงานจากการกระทำของเหยื่อ เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ต้องอาศัยบุคคลหรือสิ่งอื่นๆ มากระทำ เพื่อให้เกิดการระเบิด เช่น ยกระเบิด เปิดระเบิด หรือเอียงระเบิด สามารถแบ่งลักษณะได้ดังนี้
    1. ระเบิดแสวงเครื่องแบบป้องกันการยก (กล่องระเบิด) 
    2. ระเบิดแสวงเครื่องแบบป้องกันการเปิด (แฟ้มเอกสารระเบิด)
    3. ระเบิดแสวงเครื่องแบบป้องกันการเคลื่อนย้าย (กล่องระเบิด)
  2. ทำงานแบบบังคับจุด เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่สามารถควบคุมการทำงานได้จากระยะไกล (Remote Control) มีวงจรการทำงานที่ซับซ้อน และผู้ที่ประดิษฐ์ระเบิดแบบนี้จะต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์เป็นอย่างดี สามารถแบ่งลักษณะได้ดังนี้
    1. ระเบิดแสวงเครื่องแบบสั่งงานด้วยวิทยุรับ-ส่ง
    2. ระเบิดแสวงเครื่องแบบสั่งงานด้วยโทรศัพท์มือถือ
  3. การทำงานแบบถ่วงเวลา  เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ใช้อุปกรณ์ตั้งเวลาการทำงานเป็นหลัก เช่น ใช้นาฬิกา หรือวงจรนับแบบอิเลคทรอนิกส์ สามารถแบ่งลักษณะได้ดังนี้
    1. ระเบิดแสวงเครื่องถ่วงเวลาด้วยนาฬิกาแบบใช้แบตเตอรี่
    2. ระเบิดแสวงเครื่องถ่วงเวลาด้วยวงจรแบบอิเลคทรอนิกส์
    3. ระเบิดแสวงเครื่องถ่วงเวลาด้วยรีเลย์
  4. การทำงานแบบอาศัยสภาพแวดล้อม เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ต้องอาศัยลักษณะของสภาพแวดล้อมเป็นตัวเริ่มทำงาน เช่น เมื่อได้รับแสงสว่างหรือมีเสียงดังจะทำให้ระเบิดทำงาน ส่วนมากระบบสวิทช์ควบคุมจะเป็นวงจรอิเลคทรอนิกส์ สามารถแบ่งลักษณะได้ดังนี้
    1. ระเบิดแสวงเครื่องทำงานด้วยแสงสว่าง
    2. ระเบิดแสวงเครื่องทำงานด้วยเสียง
    3. ระเบิดแสวงเครื่องทำงานด้วนความร้อน
การประดิษฐ์ระเบิดแสวงเครื่อง มักจะขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และความชำนาญของผู้ประดิษฐ์ ฉะนั้นการทำงานของระเบิดแสวงเครื่องอาจมีระบบการทำงานได้หลายอย่างในตัวเอง เช่น มีระบบป้องกันการยก การเคลื่อนย้าย ระบบถ่วงเวลา ระบบควบคุมการทำงานระยะไกล หรือการทำงานอื่นๆ ด้วยสาเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการเก็บกู้วัตถุระเบิด จะต้องประเมินค่าของระเบิดแสวงเครื่องให้สูง และจะต้องระลึกไว้เสมอว่า

วัตถุระเบิด...ไม่เคยปราณีใคร
วัตถุระเบิด...ไม่เคยให้โอกาสใครแก้ตัว
วัตถุระเบิด...ไม่เคยมีคำตอบที่ถูกต้องให้ใคร

และมีข้อคิดสำหรับผู้ที่ประดิษฐ์หรือผู้วางระเบิดแสวงเครื่องว่า

วัตถุระเบิด คือ ดาบสองคมเสมอ

************************
ที่มาข้อมูล : กรมสรรพาวุธทหารบก


ประเภทของระเบิดแสวงเครื่อง

ประเภทของระเบิดแสวงเครื่อง
ระเบิดแสวงเครื่องสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะของระบบการทำงานได้ 3 ระบบ คือ
1.ระบบสารเคมี  เป็นการใช้สารเคมีทำให้เกิดการทำงานของระเบิดแสวงเครื่อง ตัวอย่างเช่น การใช้น้ำกรดกัดกร่อนภาชนะที่บรรจุสารเคมี เมื่อภาชนะรั่ว ทำให้สารเคมีซึ่งเป็นส่วนผสมของระเบิดเกิดปฏิกริยากันแล้วระเบิดขึ้น วิธีการนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะขั้นตอนการทำยุ่งยาก ไม่สามารถควบคุมเวลาที่จะทำให้ระเบิดได้แน่นอน และที่สำคัญเป็นอันตรายแก่ผู้ประดิษฐ์


ที่มาของภาพ http://www.wired.com/2010/07/ff_roadside_bombs/

2.ระบบกลไก เป็นการใช้อุปกรณ์ทางกลต่างๆ ทำให้เกิดการทำงานของระเบิดแสวงเครื่อง ตัวอย่างเช่น การใช้กลไกประกอบกับลูกระเบิดขว้างแล้วบรรจุในกล่อง เมื่อเปิดกล่องจะทำให้กระเดื่องนิรภัยของลูกระเบิดขว้างเป็นอิสระแล้วเกิดระเบิดขึ้น หรือการใช้ระบบลานนาฬิกาเป็นกลไก เมื่อครบเวลาที่ตั้งไว้ ลานนาฬิกาจะไปปลดล็อคกระเดื่องนิรภัยให้เป็นอิสระแล้วเกิดระเบิดขึ้น วิธีการนี้ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยสิ่งอื่นๆ มากระทำต่อตัวระเบิดจึงจะเริ่มทำงาน ระเบิดแสวงเครื่องแบบนี้ นิยมใช้เพื่อการข่มขู่ การประสงค์ต่อชีวติหรือทำให้บาดเจ็บล้มตายเฉพาะบุคคล
ที่มาของภาพ http://www.globalsecurity.org/military/intro/ied-firing.htm

3.ระบบไฟฟ้า เป็นการใช้ระบบอุปกรณ์ทางไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ทางอิเลคทรอนิคส์มาทำให้เกิดการทำงานของระเบิดแสวงเครื่อง ตัวอย่างเช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ เพจเจอร์ โทรศัพท์ไร้สาย รีโมทคอนโทรลรถยนต์ รถหรือเครื่องบินบังคับวิทยุ นำมาประกอบเชิ้อปะทุไฟฟ้าและวัตถุระเบิด ระเบิดแสวงเครื่องแบบนี้ เป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากทำได้ง่าย สามารถควบคุมจังหวะการทำงานและกำหนดเวลาการทำงานได้แน่นอน ควบคุมการทำงานได้ในระยะไกล และสร้างความซับซ้อนตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของผู้ประดิษฐ์ได้หลากหลายรูปแบบ ตามความรู้ความสามารถของผู้ประดิษฐ์


ที่มาของภาพ http://www.inertproducts.com/ied_training_kits

***************************

ที่มาข้อมูล : กรมสรรพาวุธทหารบก